โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคตาแห้งในผู้ใหญ่

March 13th, 2024

ประชากรทั่วโลกประมาณ 280 ล้านคน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งคิดเป็น 3.8% ของประชากรโลก และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต1 โรคซึมเศร้าทำให้ผู้ป่วยลดประสิทธิภาพการเรียน การทำงาน คุณภาพของความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relationship quality) และความลดสามารถในการเข้าสังคม รวมถึงรบกวนทุกด้านของชีวิตโดยทั่วไป การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าโรคซึมเศร้ามีผลทำให้อาการตาแห้งรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกันอาการตาแห้งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวล และซึมเศร้ามากขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นนักวิจัยจึงผลักดันให้จักษุแพทย์เห็นถึงความสำคัญกับโรคทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้น เมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาโรคตาแห้ง

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางจิตใจที่พบได้บ่อยแต่ร้ายแรง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อทุกคนได้โดยไม่คำนึงถึงอายุเพศ หรือสถานการณ์ โรคซึมเศร้าส่งผลมากมายต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ความสามารถในการทำงานที่โรงเรียน หรือที่ทำงาน หรือการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคม และครอบครัวลดลงอย่างมาก1,2 กรณีร้ายแรง โรคซึมเศร้าสามารถนำมาสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี1 

โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคตาแห้งในผู้ใหญ่
โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคตาแห้งในผู้ใหญ่

โรคซึมเศร้าแตกต่างจากความแปรปรวนทางด้านอารมณ์ และความรู้สึกเครียด หรือความกลัวในระยะเวลาอันสั้นที่อาจพบได้ในช่วงนึงของชีวิต ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าต้องมีอาการอย่างน้อย 2 สัปดาห์3 ซึ่งอาการอาจแตกต่างกันตามความรุนแรง และระยะเวลา โดยจะประกอบด้วยอารมณ์ซึมเศร้า หมดความสนใจ หมดแรง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่สมเหตุผล นอนไม่หลับ ไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อ และมีความคิดฆ่าตัวตาย การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่าโรคซึมเศร้าอาจทำให้อาการตาแห้งรุนแรงมากขึ้น4,5 

โดยทั่วไปโรคซึมเศร้าจะมีอาการที่มีความคล้ายคลึงกันทั้งในเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ แต่ยังคงมีความแตกต่างกันในบางประการ เด็กอาจทุกข์ทรมานจากความเศร้า ความวิตกกังวล ความต้องการให้คนอยู่ใกล้ การมีน้ำหนักตัวน้อย ความเจ็บปวด และปฏิเสธการไปโรงเรียน ส่วนวัยรุ่นจะรู้สึกเศร้า รู้สึกหงุดหงิด รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด และอ่อนไหวทางอารมณ์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้อาจทำให้การเรียนแย่ลง อาจขาดเรียนเป็นประจำ มีการใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารหรือนอนมากเกินไป หมดความสนใจในการทำกิจกรรมตามปกติ และหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สำหรับผู้ใหญ่มักพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้รับการรักษาโรคซึมเศร้า ตลอดจนมีความลังเลที่จะเข้ารับการรักษา อาการที่พบ ได้แก่ บุคลิกภาพเปลี่ยน และมีความยากลำบากในการจดจำ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ หมดความต้องการทางเพศ หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคม และมีความคิดฆ่าตัวตาย6 

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็นหลายประเภท ได้แก่3

ic1โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ (Major depression)
อาการจะรบกวนการทำงาน การนอนหลับ การเรียน และการรับประทานอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป

ic2โรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง (Dysthymia)
ความรุนแรงของอาการจะน้อยกว่า แต่จะมีอาการยาวนานอย่างน้อย 2 ปี

ic3โรคซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์ (Perinatal depression)
เป็นหญิงที่มีโรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดบุตร

ic4โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal affective disorder)
โดยปกติอาการจะเริ่มต้นช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง หรือต้นฤดูหนาว และอาการจะหายไปช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน

ic5โรคซึมเศร้าที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย (Depression with symptoms of psychosis)
พบในโรคซึมเศร้าระดับรุนแรง โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิด และประสาทหลอนร่วมด้วย

สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง

โรคซึมเศร้าเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยทางสังคม จิตวิทยา และชีวภาพ1,7

  • สถานการณ์ตึงเครียด: การว่างงาน การสูญเสีย การได้รับบาดเจ็บ
  • บุคลิกภาพ: ความมั่นใจในตนเองต่ำ, การตำหนิตัวเองมากเกินไป โดยลักษณะเหล่านี้สามารถถ่ายทอดมาจากบิดามารดา หรือเกิดขึ้นได้เองจากประสบการณ์ที่ผ่านมา
  • พันธุกรรม: แนวโน้มการเป็นโรคซึมเศร้าจะเพิ่มขึ้น หากมีญาติที่เคยทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้ามาก่อน
  • การให้กำเนิดบุตร: การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน และร่างกาย ตลอดจนความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์
  • ความโดดเดี่ยว: การตัดสัมพันธ์จากครอบครัว หรือเพื่อนสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้
  • แอลกอฮอล์ และยาเสพติด: สารดังกล่าวส่งผลต่อสารเคมีในสมอง ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดโรคซึมเศร้า
  • สภาวะทางการแพทย์: การเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคพาร์กินสัน และโรคเบาหวาน เป็นต้น เสมือนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคซึมเศร้า8 บางการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโรคตาแห้งสัมพันธ์กับการเพิ่มความชุกของโรคซึมเศร้า9,10

โรคซึมเศร้าสามารถทำให้โรคตาแห้งแย่ลงได้

งานวิจัยจำนวนมากรายงานว่าผู้ป่วยโรคตาแห้งในระดับปานกลาง-รุนแรงที่มีโรคซึมเศร้าจะมีอาการ4, 11, 12 และอาการแสดง4 ของโรคตาแห้งที่แย่ลง เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แม้ว่ากลไกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจเป็นไปได้ว่า4

  • โรคซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก รวมถึงเพิ่มระยะเวลาในการดูโทรทัศน์ และการใช้คอมพิวเตอร์ ตลอดจนเพิ่มระยะเวลาการใช้หน้าจอ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคตาแห้ง13
  • ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึกไวต่อความเจ็บปวด ทำให้การรับรู้อาการของโรคตาแห้งแตกต่างออกไป
  • โรคซึมเศร้า และโรคตาแห้งอาจมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบ (inflammatory factors) ร่วมกัน โดยผลการศึกษาพบว่าผู้ที่มีโรคซึมเศร้า ร่วมกับโรคตาแห้งจะตรวจพบตัวชี้วัดระดับการอักเสบในเลือด (inflammatory markers) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม14 อย่างไรก็ตามการศึกษาล่าสุดไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของตัวชี้วัดระดับการอักเสบในเลือดในผู้ป่วยโรคตาแห้งที่มี และไม่มีโรคซึมเศร้าร่วมด้วย4
  • หลายการศึกษาเสนอว่ายารักษาโรคซึมเศร้าสามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคตาแห้งได้15, 16 แต่ก็มีรายงานว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างยารักษาโรคซึมเศร้า และโรคตาแห้ง4

การรักษาโรคตาแห้งอย่างมีประสิทธิภาพสัมพันธ์กับอาการของโรคซึมเศร้าที่ดีขึ้น

โรคตาแห้งสามารถนำมาสู่ปัญหาทางจิตใจได้9 โดยอธิบายได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าโรคตาแห้ง อาจทำให้เกิดการระคายเคือง และรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน ดังนั้นคุณภาพชีวิตจึงลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า4 การบรรเทาโรคตาแห้งด้วยการรักษาที่มีประสิทธิภาพจึงสามารถช่วยให้อาการของโรคซึมเศร้า และวิตกกังวลดีขึ้นได้9

การป้องกัน และรักษาโรคซึมเศร้า

เมื่ออ้างอิงจากความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างโรคตาแห้ง และโรคซึมเศร้า นักวิจัยแนะนำให้จักษุแพทย์คัดกรองปัญหาทางจิตวิทยาในผู้ป่วยโรคตาแห้งระดับปานกลาง-รุนแรง ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงผลร้ายแรงที่เกิดขึ้นตามมาจากทั้งสองโรคนี้ได้ นอกจากนี้โรคซึมเศร้าสามารถวินิจฉัย รักษา และป้องกันได้ในบางกรณี ดังนั้นจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าหากมีการดำเนินการจัดการกับโรคดังกล่าว

ic6การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ทำตัวเองให้โดดเดี่ยว ใช้เวลากับคนที่รักและห่วงใย

ic7การขอความช่วยเหลือ
หากมีปัญหา และรู้สึกสับสน/มืดมน ให้ขอคำปรึกษา หรืออาศัยจิตบำบัด

ic8การรักษาด้วยยาหรือการบำบัด
แจ้งแพทย์เพื่อให้แพทย์พิจารณาเลือกยา หรือการบำบัดที่เหมาะสม หากมีภาวะซึมเศร้าระดับเล็กน้อย การแพทย์ทางเลือกอย่าง การนวด การฝังเข็ม และการสะกดจิต อาจช่วยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้ ในกรณีอื่นๆ คุณอาจต้องได้รับยารักษาโรคซึมเศร้าเพื่อช่วยในการรักษา การรักษาอีกวิธีหนึ่งคือการบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง

Find the nearest Eye Clinic
เอกสารอ้างอิง
  1. Depression. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/depression (accessed 2022-09-27).
  2. World Health Organization. Depression and Other Common Mental Disorders: Global Health Estimates; WHO/MSD/MER/2017.2; World Health Organization, 2017.
  3. Depression. National Institute of Mental Health (NIMH). https://www.nimh.nih.gov/health/topics/depression (accessed 2022-09-27).
  4. Zhou, Y.; Murrough, J.; Yu, Y.; Roy, N.; Sayegh, R.; Asbell, P.; Maguire, M. G.; Ying, G.; DREAM Study Research Group. Association Between Depression and Severity of Dry Eye Symptoms, Signs, and Inflammatory Markers in the DREAM Study. JAMA Ophthalmol. 2022, 140 (4), 392. https://doi.org/10.1001/jamaophthalmol.2022.0140.
  5. Nepp, J. Depression as Ophthalmologic Problem in Dry Eye Syndromes. Invest. Ophthalmol. Vis. Sci. 2014, 55 (13), 1480.
  6. Depression (major depressive disorder) - Symptoms and causes. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/symptoms-causes/syc-20356007 (accessed 2022-09-26).
  7. Causes - Clinical depression. nhs.uk. https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/clinical-depression/causes/ (accessed 2022-09-28).
  8. Simon, G. E. Treating Depression in Patients with Chronic Disease. West. J. Med. 2001, 175 (5), 292–293.
  9. Bitar, M. S.; Olson, D. J.; Li, M.; Davis, R. M. The Correlation Between Dry Eyes, Anxiety and Depression: The Sicca, Anxiety and Depression Study. Cornea 2019, 38 (6), 684–689. https://doi.org/10.1097/ICO.0000000000001932.
  10. Wan, K. H.; Chen, L. J.; Young, A. L. Depression and Anxiety in Dry Eye Disease: A Systematic Review and Meta-Analysis. Eye 2016, 30 (12), 1558–1567. https://doi.org/10.1038/eye.2016.186.
  11. Labbé, A.; Wang, Y. X.; Jie, Y.; Baudouin, C.; Jonas, J. B.; Xu, L. Dry Eye Disease, Dry Eye Symptoms and Depression: The Beijing Eye Study. Br. J. Ophthalmol. 2013, 97 (11), 1399–1403. https://doi.org/10.1136/bjophthalmol-2013-303838.
  12. Kim, K. W.; Han, S. B.; Han, E. R.; Woo, S. J.; Lee, J. J.; Yoon, J. C.; Hyon, J. Y. Association between Depression and Dry Eye Disease in an Elderly Population. Investig. Opthalmology Vis. Sci. 2011, 52 (11), 7954. https://doi.org/10.1167/iovs.11-8050.
  13. Madhav, K. C.; Sherchand, S. P.; Sherchan, S. Association between Screen Time and Depression among US Adults. Prev. Med. Rep. 2017, 8, 67–71. https://doi.org/10.1016/j.pmedr.2017.08.005.
  14. Mrugacz, M.; Ostrowska, L.; Bryl, A.; Szulc, A.; Zelazowska-Rutkowska, B.; Mrugacz, G. Pro-Inflammatory Cytokines Associated with Clinical Severity of Dry Eye Disease of Patients with Depression. Adv. Med. Sci. 2017, 62 (2), 338–344. https://doi.org/10.1016/j.advms.2017.03.003.
  15. The Dry Eye Assessment and Management Study Research Group. N−3 Fatty Acid Supplementation for the Treatment of Dry Eye Disease. N. Engl. J. Med. 2018, 378 (18), 1681–1690. https://doi.org/10.1056/NEJMoa1709691.
  16. Schaumberg, D. A. Prevalence of Dry Eye Disease Among US Men: Estimates From the Physicians’ Health Studies. Arch. Ophthalmol. 2009, 127 (6), 763. https://doi.org/10.1001/archophthalmol.2009.103.